Me Before you : สิทธิ (Rights) และ เจตจำนงเสรี (Free Will)



คำแนะนำ
"บทความนี้เป็นบทความที่ผมเขียนส่งอาจารย์ในวิชา วิชาปรัชญาสังคม (Social Philosophy) อาจจะดูแปลกๆแต่ผมก็อยากให้คนที่เข้ามาอ่านบล็อกผมได้ลองอ่านดู ประเด็นคือให้เลือกภาพยนต์มา 1 เลือกแล้ววิเคราะห์ประเด็นในเรื่องของ Rights สิทธิ และ เจตจำนงเสรี Free Will อาจจะจบแบบแปลกๆหน่อยนะครับ"

ภาพยนตร์ที่เลือกมาขอเลือกเรื่อง Me Before You หรือชื่อไทยก็เรียกทับศัพท์ไปว่า มี บีฟอร์ ยู เป็นภาพยนตร์แนว โรแมนติก คราม่า ว่าด้วยเรื่องของ นางเอกชื่อว่า ลูอิซ่า คลาร์ก และ พระเอก วิล เทรย์นอร์ พระเอกนั้นเป็นมหาเศรษฐี พันล้านรวยมาก นางเอกเป็นเพียงคนธรรมดา สุดท้ายแล้วพระเอกประสบอุบัติเหตุทำให้ตนเองพิการ และ นางเอกก็ทำงานเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือพระเอก เพราะตอนนั้นนางเอกตกงาน จึงรับงานนี้ไว้ทำให้ วิล หลงรักนางเอก และทำให้วิลมีชีวิตกลับมาสดใสอีกครั้ง และมอบความหวังให้พระเอกที่จะต้องใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อไป

สุดท้ายพระเอกก็เลือกชีวิตตัวเอง ที่จะทำการ “การุณยฆาต” หรือ Euthanasia ตัวของเขาเองตามเจตจำนงที่เขาเลือกไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นางเอกรับไม่ได้ทำทุกวิถีทาง สุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนความตั้งใจของพระเอกได้ สุดท้ายนางเอกยอมรับในการกระทำครั้งนี้ แล้วให้พระเอกจากไปอย่างสงบ

ความรู้สึกหลังจากดูจบ ณ ตอนนั้น เกิดคำถามกับตัวเองมากมาย ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ไม่มีความรักหลงเหลืออยู่หรือ และ หลังจากพักไปนานเรื่องนี้ก็ยังติดอยู่ในหัวนิสิต ต้องคิดตามมาอีกหลายรอบจนได้เรียนเรื่อง ปรัชญา และอยากจะลองวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้สอดคล้อง หรือ ขัดแย้งกับแนวคิดทฤษฎีใดที่เรียนมา

การุณยฆาต หรือ Euthanasia นั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงและเป็นประเด็นอยู่ทั่วโลก คือการที่ทำให้ผู้ป่วยจบชีวิต หรือตายโดยเป็นการกระทำที่เป็นเจตนาของแพทย์ และ ด้วยความเต็มใจของผู้ป่วยและญาติ เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยนั้นพ้นจากการทรมาณจากโรคที่ไม่สามารถรักษาหรือไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายให้เป็นปกติได้ การการุณยฆาตที่พบเจอในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “การุณยฆาตเจตจำนงและโดยสมัครใจ” (Voluntary and Direct Euthanasia) คือการที่ผู้ป่วยเลือกที่จะปลงชีวิตตนเอง

หากเรามองในเรื่องของ สิทธิ (Rights) ก็สามารถมองได้ ในการที่พระเอกมีสิทธิที่จะจบชีวิตตัวเองลง ไว้ตั้งแต่แรกก็สามารถทำได้ถ้ามองว่า เป็นเรื่องของ สิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) เพื่อ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครพรากหรือแย่งชิงไปได้ คนที่ปฏิเสธสิทธินี้เท่ากับปฏิเสธธรรมชาติ และว่าด้วย อำนาจใด ๆ แม้แต่อำนาจรัฐก็ไม่ควรลิดรอนสิทธิตามธรรมชาตินี้ สิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) ในมุมมองทางด้านกฎหมายบอกว่า สิทธิไม่ใช่สิ่งติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เพราะมนุษย์ตามธรรมชาติไม่มีสิทธิ ไม่มีหลักประกันใด ๆ ไม่มีระบบศีลธรรมหรือจริยธรรมใดๆ เช่น ในประเทศที่พระเอกอาศัยอยู่นั้นไม่มีกฎหมายการ “การุณยฆาต” แต่เขาก็เลือกไปที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีกฎหมายการการุณยฆาตตัวเอง แต่มันก็จะมีการโต้แย้งเรื่องของสิทธิตามกฎหมายโดยเช่นกัน เช่น ระหว่างสิทธิตามกฎหมาย กับ ศีลธรรม หรือ จริยธรรม อย่างไหนสำคัญกว่ากัน และควรจะยึดถืออะไรเป็นหลัก เพราะว่าเรื่องของ สิทธิที่จะตายนั้น ถ้ามองในแง่ของศีลธรรม จริยธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ผิด และ มองไนแง่ของศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องที่ผิดบาป ร้ายแรง แต่ทำไมในแง่กฎหมายบางประเทศถึงสามารถทำได้ และคำถามที่ว่า กฎหมายสามารถขัดแย้งกับศีลธรรมได้หรือไม่ หรือ ศีลธรรมจำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ทั่วโลกในเรื่องนี้

เจตจำนงเสรี (Free Will) ประเด็นการ การุณยฆาต ของพระเอกในภาพยนตร์เราก็มองว่าเป็นเรื่องของเจตจำนงเสรีได้ ตัวนิสิตมองว่า เป็นเรื่องของ มนุษย์สามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ (Libertarianism) เรื่องที่ว่าด้วย เสรีภาพกับความรับผิดชอบ มองว่า คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตคือการมีอิสระที่ได้เลือก หรือ ตัดสินใจเอง และลงมือทำตามที่ได้ตัดสินใจอย่างสุดความสามารถ ส่วนจะสำเร็จตามที่หวังไว้หรือไม่เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือของเรา ก็ตรงกับที่พระเอกได้เลือกทางเดินชีวิตของตนเองไว้ตั้งแต่แรกแล้ว การที่นางเอกพยายามเปลี่ยนใจพระเอกยังไงก็ไม่สำเร็จ และสุดท้ายก็ยอมรับในการตัดสินใจ อย่างน้อยก็เป็นการเครารพการตัดสินใจของพระเอก เพราะเขาเลือกเส้นทางนี้ไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว


สุดท้ายแล้วความคิดเห็นส่วนตัว และ ความเชื่อในสิ่งที่เราจะทำ นิสิตคิดว่าเราสามารถที่จะลิขิตชีวิตตัวเองได้ ณ ตอนนั้นที่ดูภาพยนตร์จบ ก็กลับมาคิดว่า หากวันไหนที่เราไม่สบาย หรือเป็นอะไรที่ร้ายแรงจนยื้อชีวิตสุดท้ายแล้ว เราทรมาน เราก็อยากที่จะแสดงเจตจำนงแบบนั้น แต่มันก็มีเรื่องให้คิดต่อไปอีกมาก ตัวนิสิตก็ได้ไปหาอ่านเพิ่มอีกหลายเรื่อง ทั้งบทความต่าง ๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะจากที่เคยพบเจอมาในชีวิตบุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้องที่ป่วยแล้วทรมานกับโรคร้ายก็มี และทรมานจนถึงสาระสุดท้ายของชีวิต แต่เราก็ไม่สามารถที่จะไปตัดสินชีวิตใครได้มันเป็นสิทธิของเขา แต่ตัวนิสิตยังเชื่อมั่นและยึดมั่นว่า เราย่อมมีสิทธิในตนเอง เราสามารถที่จะกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเองได้

ความคิดเห็น